พัฒนาการเด็ก: วิธีเลี้ยงลูกอย่างสั้นที่สุด คู่มือเลี้ยงลูก หนังสือเสริมพัฒนาการ ของเล่นเสริมพัฒนาการ การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ อาหารเด็ก เด็กสองภาษา ดนตรีเพื่อลูกรัก นิสัยการนอน ฟันน้ำนมซี่แรก ภาษาลูกน้อย หน้าที่ของบิดามารดา เลี้ยงลูกให้ฉลาด เสริมสร้างความภูมิใจให้ลูก คู่มือเลี้ยงเด็ก



พัฒนาการเด็ก
ยินดีต้อนรับสู่ แหล่งข้อมูลเกี่ยวกับลูกน้อย
พัฒนาการลูกรัก ♥ ช้าไม่ได้ อ่านเลยนะคะ
ถ้าเห็นว่าเว็บไซต์นี้ดีมีประโยชน์ โปรดช่วยบอกต่อ

วิธีเลี้ยงลูกอย่างสั้นที่สุด

วิธีเลี้ยงลูกอย่างสั้นที่สุด โดย น.พ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
ตีพิมพ์ครั้งแรก นิตยสาร V.magazine ปีที่1 ฉบับที่1 ต.ค.-ธ.ค. 2554

ก่อนหน้าจะเขียนต้นฉบับนี้มีรายการโทรทัศน์มาขอสัมภาษณ์ผมออกทีวี ระหว่างสัมภาษณ์มีเหตุขลุกขลักมากมาย แสงไม่พอ ไฟไม่พอ เสียงก่อสร้าง เสียงน้ำพุ และผมเองพูดไม่รู้เรื่อง เดิมก็เป็นคนพูดไม่รู้เรื่องอยู่แล้วบางครั้งผู้กำกับรายการยังให้ยกมือยกไม้ประกอบแบบนักแสดงก็ยิ่งไปกันใหญ่ หลังสัมภาษณ์เสร็จผมทำนายว่าอะไรที่พูดไปคงถูกตัดต่อจนฟังไม่ได้ความอยู่ดี จึงนำความสัมภาษณ์วันนั้นมาเขียนใหม่



เขาถามผม 4 ข้อ เป็นคำถาม 4 ข้อที่ดีมาก

คำถามที่หนึ่ง ถามว่าครอบครัวคืออะไร
ผมตอบว่า ครอบครัวคือ “มีอย่างน้อยหนึ่งคนให้เด็กเล็กสามารถผูกพันด้วยในระยะยาว” เขาอนุญาตให้ตอบเท่านี้ ไม่ให้อธิบาย

ต่อไปนี้เป็นคำอธิบาย ผมคิดว่าสังคมปัจจุบันครอบครัวไม่มีโอกาสอยู่กันพร้อมหน้าอีกแล้ว สังคมเมืองพ่อแม่ต่างไปทำงาน สังคมชนบทก็เช่นกัน เด็กเล็กต้องอาศัยอยู่กับปู่ย่าตายาย พี่เลี้ยงที่บ้านหรือพี่เลี้ยงที่ศูนย์รับเลี้ยงเด็ก ในสภาพสังคมที่ครอบครัวเสมือนแตกแยกหรือแตกแยกจริงเช่นนี้ จำเป็นมากที่สุดที่เด็กเล็กจะต้องผูกพันหรือสร้างสายสัมพันธ์กับผู้ใหญ่ให้ได้อย่างน้อยหนึ่งคน คำว่า “สายสัมพันธ์” มาจากคำว่า attachment ซึ่งหมายถึงความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้น ลึกซึ้งและยาวนานตลอดกาลเสมือนแม่กับลูกเช่นนั้น วิธีการคือเลี้ยงเขาและเล่นกับเขาให้มากที่สุดบ่อยที่สุดเท่าที่จะทำได้และแน่นอนว่ามิใช่ทำไปด้วยหน้าที่แต่ทำไปด้วยความรักที่เปี่ยมล้นและไม่มีเงื่อนไข

สายสัมพันธ์จะทำหน้าที่ “ดึงรั้ง” ให้เด็กอยู่กับเราทางใจตลอดไป ไม่เฉไฉเข้าหาอบายมุข มีความสามารถควบคุมตนเอง และมีความมุ่งมั่นที่จะพุ่งไปสู่อนาคต

ในอดีตเราเคยเรียกร้องให้คุณแม่ทำหน้าที่นี้ ตอนนี้ผมเรียกร้องใครก็ได้ทำหน้าที่นี้



คำถามที่สอง ถามว่าครอบครัวที่ดีเป็นอย่างไร 
ผมตอบว่า ครอบครัวที่ดีคือครอบครัวที่มีเวลาให้กันมากๆ ปริมาณของเวลาเป็นเรื่องสำคัญอันดับต้นๆ ถ้าเรามีเวลาให้กันและกันมากอะไรๆ ก็ดีเอง พ่อแม่ที่มีเวลาให้ลูกเยอะๆ จะเห็นทั้งส่วนที่น่ารักและส่วนที่น่ารำคาญของลูกๆ พ่อแม่ที่ไม่มีเวลาให้ลูก เข้าบ้านค่ำด้วยอารมณ์หงุดหงิด มักเห็นแต่ข้อเสียของลูก เช่น เก็บของไม่เรียบร้อย เวลาลูกทำความดี เช่น ช่วยล้างจาน กลับไม่ได้เห็นไม่ได้ชื่นชม ทำให้อะไรต่ออะไรดูแย่ลงไปเรื่อยๆ ปริมาณของเวลาจึงเป็นเรื่องสำคัญ



คำถามที่สาม ถามว่าคุณหมอตั้งเป้าหมายของการเลี้ยงลูกอย่างไร 
ผมตอบว่า ผมอยากให้ลูกมีความสุข ไม่ทำความเดือดร้อนให้คนอื่น และสามารถทำประโยชน์ให้แก่คนอื่น อันที่จริงคำตอบสามข้อนี้คือความหมายกว้างๆ ของคนที่มีสุขภาพจิตดี ข้อแรกคือมีความสุข ซึ่งเถียงกันได้มากว่าแปลว่าอะไรและทำอย่างไร อันนี้ผมคิดว่าให้ลูกไปคิดเอาเอง

ข้อสองคือไม่สร้างความเดือดร้อนให้แก่คนอื่น ข้อสามสำคัญที่สุดและอาจจะสำคัญกว่าสองข้อแรกคือสามารถทำประโยชน์ให้แก่ผู้อื่น ใจดีกับผู้คน ช่วยเหลือคนอื่น การให้ การบำเพ็ญประโยชน์ ความเมตตากรุณา เหล่านี้เป็นคุณสมบัติและความสามารถที่ต้องการการฝึกฝนให้เคยชินเป็นนิสัย ทำแล้วก็จะมีสุขภาพจิตดี ทำบ่อยๆก็จะเป็นคนมีความสุขไปเอง ข้อสามจึงสำคัญที่สุด



คำถามที่สี่ ถามว่าคุณหมอเลี้ยงลูกอย่างไร 
ผมตอบว่า ผมสอนให้ลูกรู้จักลำบากก่อนสบายทีหลัง ให้เขาทำงานบ้านก่อนแล้วค่อยไปเล่นได้ ให้เขาทำการบ้านก่อนแล้วค่อยดูหนังได้ ให้เขารู้จักสนุกแต่ก็ต้องรู้จักหยุดสนุกด้วย ให้เขามีความสามารถถอนตัวจากความสนุกกลับบ้าน พูดง่ายๆว่าให้เขามีความสามารถในการควบคุมตนเอง พูดสั้นๆ คือมีวินัย

วินัยคือความสามารถในการควบคุมตนเองจากภายใน ซึ่งมิใช่เรื่องของศีลธรรมหรือจริยธรรม แต่เป็นเรื่องของสายสัมพันธ์ที่มีกับพ่อแม่และเป็นเรื่องทักษะคือ skill ดังนั้นวินัยมิได้เกิดจากการเทศนาสั่งสอนหรือถือศีลกินเจ มิได้เกิดจากครูใหญ่อบรมหน้าเสาธง แต่เกิดจากพ่อแม่สามารถผูกพันกับลูก ลูกมีสายสัมพันธ์กับพ่อแม่ คือ attachment สายสัมพันธ์นี้มองด้วยตาเปล่าไม่เห็นและทอดยาวไกลได้ไม่สิ้นสุด ลูกไปเรียนต่างจังหวัดหรือต่างประเทศก็ยังคงมีสายสัมพันธ์ต่อตรงมายังพ่อแม่อยู่เสมอ ลูกก็จะไม่เลี้ยวเข้าหาอบายมุขโดยง่าย เป็นคนมีความยับยั้งชั่งใจ จะฝ่าไฟเหลืองก็รู้จักเบรก จะนอนกับเพศตรงข้ามก็รู้จักป้องกันตัว พบเพื่อนชวนเสพยาก็คิดถึงพ่อแม่ก่อนตัดสินใจเสพ เป็นต้น จะเห็นว่าการควบคุมมาจากภายใน มิใช่มาจากภายนอก พ่อแม่ไม่มีปัญญาตามเขาทุกฝีก้าว

“ลำบากก่อนสบายทีหลัง” และ “ถอนตัวจากความสนุก” นอกจากจะเกิดจากวินัยภายในแล้ว ยังเป็นทักษะที่ต้องฝึกฝนและต้องการโค้ชคือพ่อแม่คอยฝึกฝน พ่อแม่ที่ปล่อยปละละเลยไม่ฝึกฝนทักษะเหล่านี้เป็นพ่อแม่ที่รักลูกแต่ปากหากทำร้ายลูกด้วยการกระทำ ในอนาคตลูกต้องเผชิญอบายมุขและปิศาจอีกมาก เขาต้องอดทนที่จะผ่านไปและอดทนที่จะไม่ลุ่มหลง ไม่มีใครเก่งเรื่องแบบนี้ตั้งแต่เกิด ต้องฝึก

ผมตอบคำสัมภาษณ์ทั้งสี่ข้อสั้นมาก ผู้ผลิตรายการว่าจะไปตัดต่อให้เหลือหนึ่งนาที..


รวบรวมโดย ทีมงานพัฒนาการเด็ก

ถ้าเห็นว่าบทความนี้ดีมีประโยชน์กรุณาช่วยบอกต่อด้วยนะคะ
URL: www.พัฒนาการเด็ก.com/2016/01/family.html

0 comments:

แสดงความคิดเห็น

 

Copyright © 2011 - 2016 พัฒนาการเด็ก ส่งเสริมพัฒนาการเด็ก เลี้ยงลูกรักให้มีความสุขสมวัย