พัฒนาการเด็ก: เทคนิคช่วยลูกรักไปโรงเรียนวันแรกอย่างมีความสุข คู่มือเลี้ยงลูก หนังสือเสริมพัฒนาการ ของเล่นเสริมพัฒนาการ การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ อาหารเด็ก เด็กสองภาษา ดนตรีเพื่อลูกรัก นิสัยการนอน ฟันน้ำนมซี่แรก ภาษาลูกน้อย หน้าที่ของบิดามารดา เลี้ยงลูกให้ฉลาด เสริมสร้างความภูมิใจให้ลูก คู่มือเลี้ยงเด็ก



พัฒนาการเด็ก
ยินดีต้อนรับสู่ แหล่งข้อมูลเกี่ยวกับลูกน้อย
พัฒนาการลูกรัก ♥ ช้าไม่ได้ อ่านเลยนะคะ
ถ้าเห็นว่าเว็บไซต์นี้ดีมีประโยชน์ โปรดช่วยบอกต่อ

เทคนิคช่วยลูกรักไปโรงเรียนวันแรกอย่างมีความสุข

เทคนิคช่วยลูกรักไปโรงเรียนวันแรกอย่างมีความสุข
โดย พญ.เพียงทิพย์ หังสพฤกษ์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น

       เมื่อลูกถึงวัยอนุบาลที่คุณพ่อคุณแม่ทั้งหลายเริ่มพาลูกไปโรงเรียน ในวันแรกๆ เรามักจะเห็นภาพของเจ้าตัวเล็กร้องไห้สะอึกสะอื้น กอดผู้ปกครองแน่น และภาพของคุณพ่อคุณแม่ยืนเฝ้าลูกไม่ไปไหนด้วยความเป็นห่วง รวมถึงภาพของคุณครูที่ต้องคอยปลอบเด็กๆ และอธิบายให้ผู้ปกครองฟังว่าไม่ต้องห่วงมากเกินไป แม้ว่าเด็กจะร้องไห้ก็ตาม
       
รูปจาก  www.cabeau.com

    สำหรับพ่อแม่มือใหม่ที่ลูกเพิ่งจะเข้าโรงเรียนอนุบาล และมีปัญหาร้องไห้ไม่ยอมไปโรงเรียน พญ.เพียงทิพย์ หังสพฤกษ์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลมนารมย์ อธิบายถึงสาเหตุให้ฟังว่า การที่เด็กร้องไห้เมื่อไปโรงเรียนวันแรกๆ นั้น ถือเป็นพัฒนาการตามปกติของเด็ก เนื่องจากเด็กยังไม่เข้าใจในเหตุผลว่าทำไมต้องไปเรียนหนังสือ แม้พ่อแม่จะบอกว่าลูกไปเรียนเถอะจะได้ฉลาด โตขึ้นจะได้มีงานทำ แต่เด็กๆ ก็ยังไม่เข้าใจภาพที่ผู้ใหญ่บอกอยู่ดี เพราะไม่สามารถจินตนาการถึงภาพอนาคตที่ไกลขนาดนั้นได้ ยิ่งพ่อแม่บางคนขู่ว่าถ้าไม่ไปเรียนก็ไม่มีงานทำ จะต้องไปเป็นขอทาน กลับยิ่งทำให้เด็กเกิดความกลัวและกังวลมากขึ้น
       
"พ่อแม่ไม่ควรไปขู่เด็กว่าถ้าไม่ไปเรียนจะต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เพราะจริงๆ แล้วการที่เด็กร้องไห้เมื่อต้องไปโรงเรียน อาจจะเป็นเพราะยังไม่เข้าใจว่าการไปโรงเรียน ต่างจากการถูกทอดทิ้งอย่างไร ซึ่งในเด็กบางคนอาจจะมีความจำฝังใจที่พ่อแม่ มักจะขู่ตอนที่ร้องไห้หรือดื้อว่า ถ้าร้องไห้เดี๋ยวแม่ไม่รัก เดี๋ยวแม่ไม่เลี้ยงแล้ว เดี๋ยวส่งไปอยู่โรงเรียนประจำอยู่กับครู ไม่ต้องกลับบ้าน ดังนั้นพอถึงเวลาที่ต้องไปโรงเรียนจริงๆ ความทรงจำเรื่องที่พ่อแม่ขู่และอาจฝังอยู่ในใจ ก็ถูกกระตุ้นขึ้นมา ทำให้เข้าใจไปว่า นี่คงถึงเวลาแล้วที่พ่อแม่จะทอดทิ้งฉัน" จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นอธิบาย


ดังนั้น เด็กบางคนที่ร้องไห้ไม่อยากไปโรงเรียน อาจต้องใช้เวลาปรับตัวอยู่พอสมควร โดยเด็ก ๆ อาจมีการร้องไห้ในช่วง 1-2 สัปดาห์แรก ซึ่งถือว่าเป็นช่วงปกติของเด็กทั่วไป แต่หากร้องไห้มากกว่า 2-3 สัปดาห์ขึ้นไป ทั้งคุณพ่อคุณแม่และคุณครูควรช่วยกันสังเกตุและพูดคุยกันถึงสาเหตุเพื่อหาทางช่วยเหลือ

“หากข้อมูลที่คุณครูบอกว่า เมื่อคุณแม่กลับบ้านไป เด็กก็หยุดร้อง ส่วนตอนกลางวัน ยิ้มแย้ม แจ่มใส กินข้าวได้ เล่นกับเพื่อนได้ แบบนี้ก็ไม่ต้องห่วง แต่ถ้าคุณครูบอกว่า เด็กร้องไห้ตลอดวันเลย ไม่ร่วมกิจกรรม ถ้าเป็นอย่างนี้นานเกินสองสัปดาห์ ก็ต้องกลับมาดูว่าลูกเป็นอะไร เขากังวลอะไรไหม ลูกมีอะไรอยากให้ช่วยเหลือหรือไม่ โดยส่วนใหญ่จะพบว่า เด็กถูกพ่อแม่ขู่จึงเกิดความกลัว และกังวล เมื่อพบปัญหาก็กลับมาแก้ไข ด้วยการสร้างความมั่นใจ ความอุ่นใจให้เขา โดยก่อนจากกันก็ควรพูดทำนองว่า ลูกไม่ต้องกลัว อยู่กับคุณครู มีอะไรก็ไปบอกครูนะจ๊ะ เดี๋ยวเลิกเรียนก็เจอกันแล้ว ซึ่งอาจต้องใช้เวลา ในบางรายอาจนานถึง 1 เดือน ก็ไม่ต้องกังวลมากไป” จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นคนเดียวกันเผย

ทั้งนี้ การช่วยให้เจ้าตัวเล็กไปโรงเรียนได้อย่างมีความสุขและมั่นใจมากขึ้นนั้น พญ.เพียงทิพย์ให้คำแนะนำว่า คุณพ่อคุณแม่ หรือผู้ปกครองอาจจะต้องช่วยเตรียมพร้อมลูกตั้งแต่เนิ่นๆ ด้วยการฝึกให้ลูกช่วยเหลือตัวเองได้บ้าง มีการส่งเสริมพัฒนาการการใช้มือ ใช้ขาให้แข็งแรง รวมถึงการฝึกให้ลูกรู้จักการสังเกต รู้จักใช้ช้อน ฝึกการขับถ่าย ฝึกการใส่เสื้อผ้าเอง เป็นต้น

“เด็กที่ช่วยเหลือตัวเองได้น้อย พอไปโรงเรียนครูฝึกให้ทำอะไรแล้วทำไม่ได้ แต่เพื่อนทำได้ เด็กก็จะรู้สึกด้อย ไม่มั่นใจ รู้สึกแตกต่าง หรือรู้สึกถูกทอดทิ้ง ไม่ได้รับการดูแลเหมือนที่บ้าน เขาก็จะยิ่งไม่อยากไปโรงเรียน บางรายพบว่าเหตุผลที่เด็กไม่อยากไปโรงเรียน เพราะติดพี่เลี้ยง เนื่องจากตอนอยู่บ้านพี่เลี้ยงทำให้ทุกอย่าง ดังนั้น พ่อแม่ต้องช่วยเหลือลูกให้ถูกทาง คือช่วยให้เขาช่วยตัวเองให้ได้ ไม่ใช่ทำให้เขาสบาย จนทำอะไรไม่เป็นเลย ขณะที่คุณครูก็อาจจะต้องลดความดุลง เพราะการที่เด็กไม่อยากไปโรงเรียน บางครั้งเป็นเพราะกลัวครูดุ หรือมีการขู่เด็กเกิดขึ้น ซึ่งด้วยความเป็นเด็ก เขาอาจไม่สามารถบ่นออกมาเป็นคำพูดได้ เลยสะท้อนออกมาเป็นอาการทางกาย” จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นแนะ

อย่างไรก็ดี นอกจากการร้องไห้ไม่ไปโรงเรียนแล้ว คุณพ่อคุณแม่อาจพบว่า ลูกจะมีการเจ็บป่วยทางกาย เช่น ปวดหัว ปวดท้อง ปวดขา ปวดแขน ทั้งๆ ที่ไม่ได้ไปโดนหรือหกล้ม ทั้งนี้เป็นเพราะเด็กเกิดความกังวล หรือเครียด ทำให้ฮอร์โมนที่เกี่ยวกับความเครียดหลั่งออกมา ทางที่ดี คุณพ่อคุณแม่และคุณครูควรช่วยกันสังเกต อย่าด่วนตัดสินว่าเด็กแกล้งทำสำออย แต่ควรรับฟัง โดยคุณครูอาจจะให้เด็กไปนอนพักห้องพยาบาลก่อน เพื่อให้เด็กรู้สึกว่ามีที่ปลอดภัยมาหลบภัย เมื่ออาการดีขึ้นก็ให้กลับไปเรียนเหมือนเดิม แต่ก็มีบางรายอาจจะไม่มีอาการปวดจริง แต่เกิดการเรียนรู้ว่าถ้าทำแบบนี้จะได้ไม่ต้องไปโรงเรียน หรือคุณครูให้กลับบ้านได้ ก็ปวดอยู่อย่างนั้นบ่อยๆ อย่างไรก็ตาม คุณครูและพ่อแม่ก็ต้องคอยสังเกต

สำหรับในรายที่พบว่าลูกร้องไห้ไม่หยุด ไม่ยอมไปโรงเรียน และไม่รู้จะหาสาเหตุอย่างไร พญ.เพียงทิพย์แนะนำว่า คุณพ่อคุณแม่อาจจะปรึกษานักจิตวิทยาและจิตแพทย์ ซึ่งปัจจุบัน คุณพ่อคุณแม่รุ่นใหม่ให้ความสำคัญและเข้าใจงานด้านนี้มากขึ้นแล้วว่าเป็นการพัฒนาลูก และหากช่วยเหลือได้ทันจะไม่เพียงทำให้ลูกไปโรงเรียนอย่างมีความสุขแต่ยังมีความมั่นใจด้วย

“หลายรายที่เจอปัญหาตั้งแต่เริ่มต้นไปโรงเรียน แล้วทำให้โตขึ้นมาเป็นคนขี้กลัว กังวล กลัวครู กลัวการถูกดุ ถูกขู่ ขี้อาย ขาดความมั่นใจ ไม่เข้าร่วมกิจกรรมการแสดงออก ก็จะเสียโอกาสในการพัฒนาบุคลิกภาพ ความมั่นคงด้านอารมณ์ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญต่อการมีชีวิตที่มีความสุขและประสบความสำเร็จ การได้รับการช่วยเหลืออย่างถูกทางตั้งแต่เนิ่นๆ จึงเป็นการป้องกันปัญหาได้ดีที่สุด” พญ.เพียงทิพย์ทิ้งท้าย

ที่มา: ASTVผู้จัดการออนไลน์
เรียบเรียงโดย ทีมงานพัฒนาการเด็ก

ถ้าเห็นว่าบทความนี้ดีมีประโยชน์กรุณาช่วยบอกต่อด้วยนะคะ


1 comments:

I-Din กล่าวว่า...

��

แสดงความคิดเห็น

 

Copyright © 2011 - 2016 พัฒนาการเด็ก ส่งเสริมพัฒนาการเด็ก เลี้ยงลูกรักให้มีความสุขสมวัย