พัฒนาการเด็ก: วัคซีนไอพีดี ที่พ่อแม่อยากรู้จักให้มากขึ้น คู่มือเลี้ยงลูก หนังสือเสริมพัฒนาการ ของเล่นเสริมพัฒนาการ การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ อาหารเด็ก เด็กสองภาษา ดนตรีเพื่อลูกรัก นิสัยการนอน ฟันน้ำนมซี่แรก ภาษาลูกน้อย หน้าที่ของบิดามารดา เลี้ยงลูกให้ฉลาด เสริมสร้างความภูมิใจให้ลูก คู่มือเลี้ยงเด็ก



พัฒนาการเด็ก
ยินดีต้อนรับสู่ แหล่งข้อมูลเกี่ยวกับลูกน้อย
พัฒนาการลูกรัก ♥ ช้าไม่ได้ อ่านเลยนะคะ
ถ้าเห็นว่าเว็บไซต์นี้ดีมีประโยชน์ โปรดช่วยบอกต่อ

วัคซีนไอพีดี ที่พ่อแม่อยากรู้จักให้มากขึ้น

ปัจจุบัน ผู้เป็นพ่อแม่คงพบว่า มีวัคซีนทางเลือกมีอยู่มากมายให้พ่อแม่ตัดสินใจจ่ายตามความต้องการและความจำเป็น ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ "วัคซีนไอพีดี" แต่การจะเลือกฉีดให้ลูกหรือไม่นั้น ยังเป็นสิ่งที่น่าสนใจที่หลายๆ ครอบครัวต้องไตร่ตรอง เพราะค่าใช้จ่ายของวัคซีนชนิดนี้ ไม่น้อยเอาเสียเลย และในวันนี้ ก็มีคำถามจากท่านผู้อ่านทางบ้านที่ต้องการทราบถึงความจำเป็นของเด็กที่ควรได้รับวัคซีนตัวนี้ ซึ่งคุณหมอสินดี จำเริญนุสิต กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากโรงพยาบาลเวชธานีจะมาให้คำตอบที่ชัดแจ้งแก่ท่านผู้อ่าน รวมถึงแนวทางในการป้องกันโรคดังกล่าวในเด็กเล็กด้วย ไปติดตามกันเลยค่ะ
     
       คำถาม : การฉีดวัคซีนไอพีดี จำเป็นในเด็กไหมคะ คุณหมอมีคำแนะนำสำหรับพ่อแม่อย่างไร



คุณหมอสินดี : ก่อนอื่น ขอชี้แจงก่อนค่ะว่า "โรคไอพีดี" คืออะไร
     
       คำว่า “ไอพีดี” มาจากคำย่อในภาษาอังกฤษ ว่า Invasive Pneumococcal Disease ซึ่งคือการติดเชื้อนิวโมคอคคัส (Pneumococcus) แบบรุนแรงและแพร่กระจายในกระแสเลือดและที่เยื่อหุ้มสมอง เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตทั่วโลกประมาณ 1.6 ล้านคนต่อปี มักพบในทารก และเด็กเล็กโดยเฉพาะในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ที่ภูมิคุ้มกันยังต่ำ อาจติดเชื้อโรคได้ง่าย
     
       เชื้อนิวโมคอคคัสนี้ มีหลายสายพันธุ์ ติดต่อโดยการที่เชื้อเข้าสู่ร่างกายทางเยื่อบุบริเวณทางเดินหายใจ โดยเชื้อจะแพร่จากพาหะหรือผู้ป่วยโดยตรง เชื้อจะเข้าไปในกระแสเลือด อาจแพร่กระจายไปเยื่อหุ้มสมอง หรือไปที่อวัยวะอื่นเช่น กระดูก มักทำให้เกิดโรคของระบบทางเดินหายใจ เช่น หูชั้นกลางอักเสบ ไซนัสอักเสบ ปอดอักเสบซึ่งอาจมีอาการรุนแรง ไข้ ไอ หอบ หายใจเร็ว ส่วนการติดเชื้อแบบไอพีดีพบได้น้อยมากแต่รุนแรง เด็กจะมีไข้สูง ร้องกวน งอแง และอาจช็อคได้
     
       อย่างไรก็ตามคุณแม่ก็สามารถลดโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดโรคและควบคุมไม่ให้โรคแพร่กระจายไปสู่ผู้อื่นได้ โดย
     
       - ให้เด็กดื่มนมแม่ เชื่อว่าเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยป้องกันโรคได้
     
       - สอนให้เด็กรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง และรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล เช่น นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ล้างมือก่อนรับประทานอาหาร ใช้ผ้าปิดปากและจมูกเวลาไอ จาม โดยเฉพาะเมื่อเจ็บป่วย
     
       - หลีกเลี่ยงควันบุหรี่ และการพาเด็กไปในที่ๆ มีผู้คนแออัด โดยเฉพาะเมื่อเด็กป่วย
     
       - สังเกตอาการของเด็ก หากมีอาการไข้ ไอ หายใจลำบาก ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษา ไม่ควรซื้อยากินเอง และควรหยุดเรียนจนกว่าอาการจะปกติ

การให้วัคซีน
     
       เนื่องจากประเทศไทยอุบัติการณ์ของโรคไอพีดีน้อยกว่าในต่างประเทศมาก จึงยังจัดเป็นวัคซีนเผื่อเลือก รวมทั้งยังไม่มีการศึกษาความคุ้มค่าของวัคซีนนี้ในเด็กไทย สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย พ.ศ.2553 จึงให้คำแนะนำว่าควรให้ในผู้ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคนี้
     
       ก. เด็กกลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อนิวโมคอคคัสชนิดรุกราน (ไอพีดี) ได้แก่ ผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องจากสาเหตุต่างๆ เช่น รับยากดภูมิคุ้มกัน ติดเชื้อเอชไอวี, ผู้ที่ไม่มีม้ามหรือม้ามไม่ทำงาน, ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น โรคปอด โรคหัวใจ โรคไต เบาหวาน ธาลัสซีเมีย, โรคที่เสี่ยงต่อเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เช่น ภาวะรั่วของน้ำไขสันหลังและ cochlear implantation
     
       ข. ในเด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปี ที่ประสงค์จะป้องกันโรค
     
       ปัจจุบันวัคซีนป้องกันโรคไอพีดี มี 2 ชนิดใหญ่ๆ ได้แก่
     
       1. วัคซีนป้องกันการติดเชื้อนิวโมคอคคัสชนิดโพลีแซคคาไรต์ (pneumococcal polysaccharide vaccine) ในไทยมี Pneumo23TM ผลิตโดยบริษัท sanofi Pasteur วัคซีนนี้ใช้เฉพาะในคนที่อายุ 2 ปีขึ้นไปที่มีความเสี่ยงสูงต่อโรคนี้ และผู้สูงอายุเท่านั้น
     
       2. วัคซีนป้องกันการติดเชื้อนิวโมคอคคัสชนิดคอนจูเกต (pneumococcal conjugate vaccine ,PCV) โดยวัคซีนชนิดนี้ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนในประเทศไทยล่าสุดมี 2 ชนิดแล้วคือ
     
       2.1Prevnar13 TM ผลิตโดยบริษัท Pfizer เป็นวัคซีนที่ครอบคลุมเชื้อ 13 สายพันธุ์ ซึ่งพัฒนามาจากวัคซีนเดิม Prevnar TM ที่มี 7 สายพันธุ์ (วัคซีนชนิดนี้แนะนำให้ใช้ในเด็กที่อายุ 6 สัปดาห์จนถึง 5 ปี)
     
       2.2Synforix TM ผลิตโดยบริษัท GSK เป็นวัคซีนที่ครอบคลุมเชื้อนิวโมคอคคัส 10 สายพันธุ์ โดยโปรตีนพาหะที่ใช้ในวัคซีนชนิดนี้มีประโยชน์ในการป้องกันการเกิดโรคหูชั้นกลางอักเสบจากเชื้อ non-typeable H.influenzae ได้ด้วย (วัคซีนชนิดนี้แนะนำให้ใช้ในเด็กที่อายุ 6 สัปดาห์จนถึง 2 ปี)
     
       สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่กังวลใจ คงพอจะได้แนวทางแล้วนะคะว่าวัคซีนทางเลือกชนิดนี้ เหมาะสำหรับลูกน้อยของท่านหรือไม่


ขอขอบคุณข้อมูลจาก ASTV ผู้จัดการออนไลน์
เรียบเรียงโดย ทีมงานพัฒนาการเด็ก

ถ้าเห็นว่าบทความนี้ดีมีประโยชน์กรุณาช่วยบอกต่อด้วยนะคะ
URL: www.พัฒนาการเด็ก.com/2016/01/IPD.html

1 comments:

บงกช กล่าวว่า...

ขอบคุณมากค่ะ

แสดงความคิดเห็น

 

Copyright © 2011 - 2016 พัฒนาการเด็ก ส่งเสริมพัฒนาการเด็ก เลี้ยงลูกรักให้มีความสุขสมวัย